รู้ทัน อาการแพ้นมวัวในเด็กเล็ก

ในปัจจุบันนี้พบว่าเด็กเล็กมี ‘ภาวะแพ้นมวัว’ หรือ ‘โรคแพ้โปรตีนในนมวัว’ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสถิติ 3% ของจำนวนเด็กแรกเกิดทั่วโลกที่จะมีภาวะนี้ โดยมักพบในเด็กเล็กตั้งแต่ช่วงแรกเกิดจนถึงประมาณ 3 ขวบ เนื่องมาจากเด็กบางคนไม่ได้ดื่มนมแม่ซึ่งมีโปรตีนที่เหมาะสมและเข้ากันได้กับร่างกายของลูก เพราะปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยบางประการ ทำให้ต้องพึ่งพานมผสมที่ทำมาจากนมวัวแทน ดังนั้นหากคุณแม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมผสม ควรรู้จักวิธีสังเกตอาการแพ้นมในเด็กเล็กและวิธีการดูแลอย่างถูกต้องไว้ด้วย

สาเหตุของอาการแพ้นมวัว

โรคแพ้โปรตีนในนมวัวเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กยังไม่แข็งแรง จึงเกิดการทำงานที่ผิดปกติ กล่าวคือแทนที่ร่างกายจะดูดซับโปรตีนในนมวัวมาใช้ประโยชน์ แต่กลับสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้านโปรตีนจากนมวัวแทน จนทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา โดยโปรตีนในนมวัวที่มักทำให้เกิดอาการแพ้นมมีมากกว่า 20 ชนิด แต่ชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ เคซีน (Casein) และ เบต้าแลคโตโกลบูลิน (Beta-lactoglobulin)

นอกจากนี้อาการแพ้นมวัวยังสามารถเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้อีก ได้แก่

  • คุณพ่อหรือคุณแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ (ไม่จำเป็นต้องแพ้อาหารเท่านั้น) โดยที่โรคภูมิแพ้ของพ่อแม่อาจแสดงหรือไม่แสดงอาการก็ได้
  • หากเด็กไม่ได้รับนมแม่ก็มีส่วนทำให้แพ้โปรตีนในนมวัวได้ง่ายขึ้น
  • คุณแม่ดื่มนมวัวในช่วงที่ให้นมลูก จึงอาจทำให้โปรตีนของนมวัวเข้าสู่ร่างกายของลูก ผ่านนมแม่ได้ โดยที่เด็กไม่ได้ดื่มนมผสมโดยตรง

อาการแพ้นมวัวเป็นอย่างไร

อาการแพ้นมมีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง โดยอาจเกิดขึ้นทันทีหลังกินนม หลังกินนมไปหลายชั่วโมง หรือในบางรายอาจแสดงอาการช้าไป 7-10 วัน ดังนั้นหากคุณแม่ให้ลูกกินนมผสมแล้วยังไม่พบอาการอย่าเพิ่งวางใจ ให้สังเกตอาการสักระยะหนึ่งก่อน โดยอาการแพ้ที่แสดงจะแตกต่างกันในแต่ละคน ดังนี้

อาการแพ้นมทั่วไป

  • มีผื่นขึ้นบางส่วนของร่างกายหรือทั่วทั้งตัว ทั้งแบบผื่นแดงเป็นวงใหญ่ มีลักษณะตุ่ม คล้ายรังผึ้งเป็นวงสีแดงนูนบนผิวหนัง และแบบผื่นตกสะเก็ดตามผิวหนัง
  • มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง น้ำมูกไหลเรื้อรัง มีเสมหะในลำคอ เป็นหวัดบ่อย
  • มีอาการปวดท้อง บ้วนหรือพ่นน้ำลายบ่อย อาเจียนหลังกินนม ถ่ายเป็นเลือด
  • ร้องไห้บ่อย โดยเฉพาะหลังกินนม
  • เด็กบางคนยังกินนมได้ตามปกติ แต่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ อาจเกิดจากอาการแพ้ ที่ทำให้ร่างกายดูดซึมผิดปกติ

อาการแพ้นมรุนแรง

อาการแพ้รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและเป็นอันตรายถึงชีวิตนั้นพบได้น้อยมาก แต่ก็ไม่ควรประมาท เด็กที่แพ้อย่างรุนแรงจะมีอาการบวมบริเวณปากหรือลำคอ จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดอากาศหายใจจากการบวมของหลอดลมได้ หรือมีอาการเซื่องซึม เฉื่อยชาผิดปกติ ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตราย หากพบอาการผิดปกติดังกล่าวให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

วิธีการดูแลรักษา

หากเด็กมีอาการแพ้นมวัว ควรได้รับคำแนะนำและการดูแลของแพทย์ในการปรับเปลี่ยนนมที่เหมาะสมให้แก่ลูก คุณแม่ไม่ควรเลือกเปลี่ยนนมเอง เพราะเด็กมีโอกาสที่จะแพ้นมชนิดอื่นด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้หยุดกินนมวัวหรืออาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวอย่างน้อย 1 ปี และให้ดื่มนมสูตรพิเศษที่มีการดัดแปลงโมเลกุลของโปรตีน เช่น นมที่มีโปรตีนนมวัวย่อยละเอียดที่ย่อยง่าย, นมที่มีโปรตีนเป็นกรดอะมิโน, โดยส่วนใหญ่ต้องกินต่อเนื่อง 1-2 ปี จนกว่าระบบภูมิคุ้มกันจะแพ้นมวัวน้อยลง

สรุป

โดยทั่วไปพบว่าเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นจะสามารถหายจากอาการแพ้นมได้เอง โดยอัตราการหายขาดของเด็กอายุ 1 ปีอยู่ที่ประมาณ 70% และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในเด็กอายุ 3 ปี มีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่แพ้เกินอายุ 10 ปี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดอาการแพ้ให้ลูกน้อยได้คือควรให้ลูกกินนมแม่ให้นานที่สุด อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันลูกให้แข็งแรง

ส่วนเด็กที่หายจากอาการแพ้นมวัวแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ลองกลับมาดื่มนมวัวอีกครั้ง เพราะหากงดนมวัวอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารในเด็กได้ โดยเฉพาะแคลเซียมที่เด็กในวัย 1-3 ปี ต้องการวันละ 500 มิลลิกรัม รวมถึงสารอาหารอื่น ๆ ที่พบในนมวัวอีกด้วย