อยากฝึกให้เด็กกินข้าวเอง ควรเริ่มต้นอย่างไรดี ?

เครดิต : Shutterstock

เด็กในวัย 1-2 ปี เป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการฝึกให้เด็กกินข้าวด้วยตนเอง เนื่องจากเมื่อลูกน้อย อายุ 6-12 เดือน พัฒนาการของเด็กในวัยนี้จะสามารถขยับมือและนิ้วมือได้มากขึ้น รวมถึงฟันน้ำนมซี่แรก ของเขาก็จะเริ่มขึ้นในช่วงวัยนี้เช่นกัน เมื่อลูกเริ่มมีฟันขึ้น เขาจะสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ด้วยตนเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมตัวสำหรับการฝึกให้เด็กกินข้าวด้วยตนเองให้ได้ก่อนหรือภายในช่วงอายุ 2-3 ขวบ ซึ่งเป็นพัฒนาการตามวัยที่คุณหมอแนะนำ โดยมีสิ่งที่ต้องเตรียมตัวดังนี้

1. รู้จักประโยชน์ของการฝึกให้เด็กกินข้าวเอง

การฝึกฝนให้ลูกน้อยรู้จักกินข้าวด้วยตนเอง จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเขาให้พัฒนา อย่างเหมาะสมตามวัย

  • พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ การหยิบจับอาหารจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การตักอาหาร เข้าปากจะฝึกการทำงานร่วมกันระหว่างการควบคุมร่างกายและประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น
  • พัฒนาการด้านสมอง เมื่อเด็กกินข้าวด้วยตัวเอง เขาจะจดจำรูปร่างและสีสันของอาหาร และฝึกการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการกินอาหาร เช่น อาหารตก อาหารชิ้นใหญ่เกินไป เป็นต้น
  • พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเอง ลูกจะรู้จักฝึกการกินอาหารเองโดยไม่ต้องมีคนป้อน รู้จักการทำเป็นกิจวัตรประจำวัน รู้จักการรับผิดชอบอาหารที่อยู่ตรงหน้า และรู้จักเรื่องเวลาดีขึ้น
  • พัฒนาการด้านอารมณ์ เมื่อเด็กกินข้าวเองได้เขาจะรู้สึกมีความสุข สนุกกับการกิน การเลียน แบบท่าทาง และรู้สึกภูมิใจเมื่อทำสำเร็จ
เครดิต : Shutterstock

2. เตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสม

คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็กกินข้าวเองในท่าทางและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยอุปกรณ์ที่ต้อง จัดเตรียมมีดังนี้

  1. เก้าอี้กินข้าว ควรให้เด็กกินข้าวในท่าทางที่ถูกต้อง การนั่งบนเก้าอี้จะทำให้เขาจำว่าต้องจดจ่อ อยู่กับอาหารตรงหน้า ไม่วิ่งเล่น หยิบจับของเล่น หรือสนใจสิ่งเร้าอื่น ๆ
  2. อุปกรณ์การกิน เช่น จาน ชาม ช้อน ควรเลือกวัสดุเป็นพลาสติกแบบที่ปลอดภัยกับเด็กหรือแบบ Food grade มีขอบมนเพื่อป้องกันการบาดผิว และเลือกชิ้นที่มีน้ำหนักเบา มีขนาดเหมาะ กับมือเด็ก ส่วนแก้วน้ำควรเลือกแบบมีหูจับถนัดมือ ที่สำคัญควรเลือกแบบที่มีสีสันน่ารักสดใส จะช่วยทำให้เด็กสนใจอาหารมากขึ้น
  3. ผ้ากันเปื้อน มีหลากหลายวัสดุให้เลือก เช่น ผ้า พลาสติก ยาง เป็นต้น

3. ใส่ใจกับโภชนาการ

สำนักโภชนาการ กรมอนามัยแนะนำว่า เด็กในวัย 1-3 ปี ต้องการพลังงานและสารอาหาร เพื่อเสริมสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท กระดูก ฟัน กล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ ใน 1 วัน เด็กจึงควรทานอาหารมื้อหลักให้ได้ 3 มื้อ และอาจมีช่วงอาหารว่าง 2 มื้อต่อวันได้ โดยที่อาหารมื้อหลักควรเน้น ให้ได้รับสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้พลังงานและเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย และอาหารว่าง อาจเสริมด้วยนมที่เป็นแหล่งอุดมด้วยแคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ซึ่งเด็กวัยนี้ควรบริโภค นม 2 แก้วใน 1 วัน

4. ห้ามป้อนข้าว

เมื่อเริ่มฝึกให้เด็กกินข้าวเอง พ่อแม่ควรหยุดป้อนข้าวลูก ควรให้เขากินอาหารด้วยตนเองทั้งหมด ห้ามให้เขากินเองแล้วสลับกับการช่วยป้อน การฝึกฝนควรทำอย่างสม่ำเสมอ การฝึกกลับไปกลับมา จะทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเอง เพราะเข้าใจว่ายังมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลืออยู่ตลอด

5. กำหนดเวลาในการกิน

ควรให้เด็กกินข้าวเป็นเวลาเดิมทุกวัน ข้าวเช้า กลางวัน เย็นควรกำหนดเวลาที่แน่นอนไว้ และควร กำหนดเวลาในการกินแต่ละมื้อไว้ไม่เกิน 30 นาที หากกินไม่หมดให้เก็บทันที เพื่อฝึกฝนให้เด็กเข้าใจ เรื่องเวลาและระเบียบวินัย

6. ควรกินข้าวพร้อมลูก

ช่วงเวลาทานข้าวคุณพ่อคุณแม่ควรกินข้าวพร้อมกันกับลูก เด็กวัยนี้จะรู้จักสังเกตและชื่นชอบ การเลียนแบบท่าทาง การแสดงตัวอย่างให้เขาเห็นการตักและเคี้ยวอาหารจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น แต่อย่านั่งรอ จดจ้อง หรือคอยส่งเสียงเชียร์เวลาเด็กกินข้าวเด็ดขาด ควรกินข้าวพร้อมกันอย่างเป็นธรรมชาติ ที่สุด เพราะลูกจะเรียนรู้ว่าถึงเวลาทานอาหารแล้ว

สรุป

ในขณะที่ให้เด็กกินข้าวเอง ควรมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยตลอด และควรศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินอาหารติดคอเด็ก เมื่อเด็กกินข้าวได้เองแล้ว เขาจะเริ่มเคยชินกับการกินข้าวด้วยช้อน ส้อมและจับแก้วน้ำได้เก่งมากขึ้น โดยในการฝึกฝนอาจมีการหกเลอะเทอะได้เป็นปกติ ควรปล่อยให้เขา ได้เรียนรู้ อย่ากดดัน คาดหวัง หรือเชียร์อัพบ่อยจนเกินไป ในช่วงแรกของการฝึกฝนสามารถชื่นชมเขา เมื่อทำสำเร็จได้ แต่หากบ่อยเกินไปจะทำให้เด็กกินข้าวเองไม่ได้หากไม่มีพ่อแม่คอยเชียร์