เมื่อลูกไม่กินนม ควรรับมืออย่างไรดี ?

ลูกไม่กินนมอาจเป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายท่านกังวลไม่น้อย เนื่องจากทารกหรือเด็กเล็กเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารจำเป็นในปริมาณที่เหมาะสมเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเขา หากลูกไม่กินนม ซึ่งเป็นอาหารหลัก อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในอนาคตได้

สาเหตุที่ลูกไม่กินนม

สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่กินนม ทั้งนมแม่จากเต้าและนมชงจากขวด เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ปัญหาด้านอารมณ์ของเด็กจนถึงปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอาการเจ็บป่วยของลูกน้อยได้ สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ลูกไม่กินนมมีดังนี้

  • เด็กอาจมีอาการเจ็บป่วยที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บเวลาดูดนม เช่น ไข้หวัด ฟันงอกใหม่ เชื้อราในปาก และหูอักเสบติดเชื้อ เป็นต้น หรือเกิดจากอาการเจ็บป่วย ความเครียดที่อาจเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนจนทำให้ลูกไม่กินนม
  • อุณหภูมิของนมไม่พอดี อาจเย็นหรือร้อนเกินไป หรือรสชาติของนมแปลกไป ทั้งจากการชงผิดสัดส่วน หรือนมเก่าที่นำมาอุ่นใหม่หมดอายุแล้ว
  • ลูกน้อยอาจเคยชินกับการดูดจากเต้าหรือจากขวดนมอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนหรือสลับไปดูดอีกแบบอาจทำให้ลูกไม่กินนมได้
  • การอุ้มเด็กไม่ถูกท่าทางระหว่างป้อนนมหรือเข้าอกแม่ อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัวจนไม่ยอมกินนม
  • ลูกน้อยเข้าสู่ช่วงเริ่มกินอาหารบดหรืออาหารเสริม อาจติดใจรสชาติใหม่ ๆ จนรู้สึกเบื่อนมได้ หรือลูกน้อยกินอาหารบดมากเกินไปจนอิ่ม ทำให้ไม่อยากกินนม
  • เด็กอาจถูกกระตุ้นและเบี่ยงเบนความสนใจด้วยสิ่งเร้าอื่น ๆ เช่น โทรทัศน์ แท็บเล็ต ของเล่น ฯลฯ จนทำให้ไม่ยอมกินนม

วิธีรับมือเมื่อลูกไม่กินนม

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ประสบปัญหาลูกไม่กินนม อย่าเพิ่งกังวลใจ ปัญหานี้เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กหลายคน ให้ลองสังเกตหาสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ยอมกินนม แล้วใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างใจเย็น ดังนี้ หากพบว่าลูกมีอาการเจ็บป่วยหรือผิดปกติทางร่างกาย ให้พาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

  • ตรวจเช็คอุณหภูมิของนมบนหลังมือว่าพอดีไหม และชิมรสชาติของนมที่ชงว่ารสชาติผิดเพี้ยนจากเดิมหรือบูดแล้วหรือไม่
  • ให้นมลูกด้วยท่าทางที่ถูกต้อง สามารถเปลี่ยนท่าทางให้หลากหลายได้ แต่ต้องเป็นท่าให้นมที่ถูกต้อง
  • ให้ความสนใจและคอยดูแลขณะที่ลูกกินนม กอดและอุ้มลูกไว้ระหว่างป้อนนมเพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ควรพูดคุยหรือชื่นชมเมื่อลูกกินนมได้ และไม่ดุหากลูกไม่กินนม
  • ป้อนนมลูกในห้องที่เงียบสงบ เย็นสบาย ไม่มีเสียงหรือสิ่งเร้ารบกวน
  • จัดปริมาณอาหารเสริมแต่ละมื้อให้พอเหมาะ เพื่อไม่ให้อิ่มเกินไปจนลูกไม่กินนม
  • เปลี่ยนรสชาตินมให้ไม่น่าเบื่อ ด้วยการสร้างสรรค์เมนูนมผสมกับวัตถุดิบหรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อย เปลี่ยนอุณหภูมินมเป็นเย็นหรือร้อนเพื่อหาอุณหภูมิที่ลูกชอบ และเปลี่ยนภาชนะใส่นมให้มีลวดลายสีสันน่าสนใจ เพื่อดึงดูดความสนใจ
    ของเด็ก ๆ

สรุป

สิ่งสำคัญของการรับมือกับปัญหาลูกไม่กินนมคือการใส่ใจหาสาเหตุว่าอะไรที่ทำให้ลูกไม่กินนมเหมือนเก่า หากเป็นเรื่องสุขภาพควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงจัดสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับการกินนมของลูก หรือหากปัญหาเกิดจากการชงนมที่ผิดสัดส่วน ให้ลองเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการชงในแต่ละครั้งอย่าง Meiji EZcube ที่ไม่ต้องใช้ช้อนตวงให้ยุ่งยาก เพียงเทก้อนนมจำนวนที่ต้องการ จากนั้นเติมน้ำอุ่นร้อน คนผสมให้ละลาย ก็จะได้นมรสชาติดี มีประโยชน์ ไม่ต้องกังวลเรื่องจะชงผิดสัดส่วน และรสชาติจะไม่ถูกปากลูกอีกต่อไป